อำนาจหน้าที่
1. หน่วยตรวจสอบภายใน มีหน้าที่บริการให้ความเชื่อมั่นในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของทุกส่วนงานในสังกัดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) อย่างเที่ยงธรรม และเป็นอิสระในกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย โดยมีอำนาจในการเข้าถึงบุคคล ข้อมูล เอกสาร ระบบงาน ทรัพย์สิน และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของส่วนงาน รวมทั้ง การสอบถาม ขอคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่ตรวจสอบ
2. หน่วยตรวจสอบภายใน เป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย วิธีการปฏิบัติงาน หรือปรับปรุงการบริหารความเสี่ยง และระบบการควบคุมภายใน ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารทุกระดับที่เกี่ยวข้อง
3. ผู้ตรวจสอบภายใน มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานตรวจสอบและเสนอความเห็นในการตรวจสอบ โดยปราศจากการแทรกแซงของผู้ใด รวมทั้งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจกรรมที่ตรวจสอบหรือไม่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย ในกิจกรรมที่ผู้ตรวจสอบภายในต้องตรวจสอบ และไม่ควรเป็นกรรมการหรือคณะกรรมการใดๆ ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานในสังกัด อันอาจมีผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานและการเสนอความเห็น
ความรับผิดชอบ
หน่วยตรวจสอบภายใน ต้องปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหน่วยงาน โดยให้รายงานผลการตรวจสอบและการให้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ ข้อเสนอแนะ คำปรึกษา ตามแนวทางที่มาตรฐานการตรวจสอบภายในกำหนดไว้
1. กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง ภารกิจงานตรวจสอบภายใน เพื่อสนับสนุนการบริหารงานและการดำเนินงานด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย โดยให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย คณะกรรมการตรวจสอบหรือคณะกรรมการอื่น ที่ปฏิบัติงานในลักษณะเดียวกัน โดยคำนึงถึงการกำกับดูแลที่ดีความมีประสิทธิภาพของกิจกรรมบริหารคึวามเสี่ยง และความเพียงพอของการควบคุมภายในของมหาวิทยาลัยด้วย
2. กำหนดกฎบัตรการตรวจสอบภายในไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเสนออธิการบดีก่อนเสนอคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและเผยแพร่หน่วยรับตรวจทราบ รวมทั้งมีการสอบทานความเหมาะสมของกฎบัตรอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
3. จัดทำและเสนอแผนการตรวจสอบประจำปีต่ออธิการบดีก่อนเสนอคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาอนุมัติภายในเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ
ในกรณีที่หน่วยตรวจสอบภายใน วางแผนการตรวจสอบที่ระยะเวลาตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปให้นำมาใช้ประกอบการพิจารณาแผนการตรวจสอบประจำปีไว้ด้วย
4. ปฏิบัติงานตรวจสอบให้เป็นไปตามแผนการตรวจสอบประจำปีที่ได้รับอนุมัติตามข้อ 3.
5. จัดทำและเสนอรายงานผลการตรวจสอบต่ออธิการบดีและคณะกรรมการตรวจสอบภายในเวลาอันสมควรและไม่เกินสองเดือน นับจากวันที่ดำเนินการตรวจสอบเสร็จแล้ว กรณีเรื่องที่ตรวจพบเป็นเรื่องที่จะมีผลเสียหายต่อมหาวิทยาลัยให้รายงานผลรายงานผลการตรวจสอบทันที
6. ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่หน่วยรับตรวจ รวมทั้งติดตามผลการปรับปรุงแก้ไขของหน่วยรับตรวจตามข้อสั่งการของอธิการบดีในรายงานผลการตรวจสอบ
7. ในกรณีมีความจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาร่วมปฏิบัติงานตรวจสอบ ให้เสนอขอบเขตและรายละเอียดของงานคุณสมบัติของผู้รับจ้าง ระยะเวลาดำเนินการ และผลงานที่คาดหวังจากผู้รับจ้าง รวมทั้ง ข้อเสนอโครงการของผู้รับจ้าง ให้อธิการบดีพิจารณาอนุมัติให้ผู้ว่าจ้างเชี่ยวชาญต่อไป
8. ปฏิบัติงานในการให้คำปรึกษาแก่อธิการบดี และผู้ที่เกี่ยวข้อง
9. ประสานงานกับผู้สอบบัญชี คณะกรรมการตรวจสอบ หรือคณะกรรมการอื่นที่ปฏิบัติงานเช่นเดียวกัน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าขอบเขตของงานตรวจสอบครอบคลุมเรื่องที่สำคัญอย่างเหมาะสมและลดการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อนกัน
10. ปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจสอบภายในตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการตรวจสอบ และอธิการบดี
ขอบเขตความรับผิดชอบ ตามประเภทของงานตรวจสอบภายใน*
1. งานบริการให้ความเชื่อมั่น (Assurance Services) หมายถึง การตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ อย่างเที่ยงธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งการประเมินผลอย่างอิสระในกระบวนการกํากับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมของหน่วยงานของรัฐ โดยตัวอย่างของงานบริการให้ความเชื่อมั่น เช่น
1.1 การตรวจสอบการเงิน (Financial Audit) หมายถึง การตรวจสอบความถูกต้อง ความครบถ้วน และความเชื่อถือได้ของข้อมูลการเงิน และรายงานการเงิน การตรวจสอบการปฏิบัติ ตามมาตรฐานการบัญชี นโยบายการบัญชี กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ ประกาศที่เกี่ยวข้อง รวมถึง การประเมินความเสี่ยง ระบบการควบคุมภายใน และความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อผิดพลาดและการทุจริต ด้านการเงินการบัญชี
1.2 การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance Audit) หมายถึง การตรวจสอบ การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ ประกาศ มติคณะรัฐมนตรี รวมถึงมาตรฐาน แนวปฏิบัติ และนโยบายที่กําหนดไว้
1.3 การตรวจสอบการดําเนินงาน (Performance Audit) หมายถึง การตรวจสอบ ความประหยัด ความมีประสิทธิผล ความมีประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าของกิจกรรมที่ตรวจสอบ
1.4 การตรวจสอบอื่น ๆ หมายถึง การตรวจสอบอื่นนอกเหนือจาก ข้อ 1.1 - 1.3 เช่น การตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการประเมินความเสี่ยงและการควบคุม ภายในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการตรวจสอบพิเศษ (การตรวจสอบตามที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรณีพิเศษ) เป็นต้น
2. งานบริการให้คําปรึกษา (Consulting Services) หมายถึง การบริการให้คําปรึกษา แนะนํา และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งลักษณะงานและขอบเขตของงานจะเป็นไปตามข้อตกลงที่ทําขึ้นร่วมกับ ผู้รับบริการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับหน่วยงานของรัฐ และปรับปรุงกระบวนการการกํากับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมของหน่วยงานของรัฐให้ดีขึ้น
3. งานเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ
4. งานพัฒนาบุคลากร และหน่วยตรวจสอบภายใน
- การพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบภายใน และมีความระมัดระวังรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ
- การประกันคุณภาพงานตรวจสอบภายใน ทั้งภายในและภายนอก และเสนอรายงานผลประเมินปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งแผนปรับปรุงการดำเนินงานเสนออธิการบดี และคณะกรรมการตรวจสอบ
*ตามหนังสือกรมบัญชีกลางที่ กค 0409.2/ว614 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2563 เรื่องการกำหนดประเภทของงานตรวจสอบภายใน
** สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการประชุมครั้งที่ 10/2562 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 มีมติให้ปรับโครงสร้างสำนักงานสภามหาวิทยาลัย โดยย้ายหน่วยตรวจสอบภายใน จากเดิมสังกัดสำนักงานอธิการบดี มาเป็นส่วนงานภายในของสำนักงานสภามหาวิทยาลัย